ลิขสิทธิ์แบบบ้าน

“ลิขสิทธิ์”  เป็นทรัพย์สินทางปัญญาอย่างหนึ่งซึ่งไม่มีรูปร่าง  แต่สามารถถือครองได้  และกฎหมายให้ความคุ้มครอง  โดยให้เจ้าของลิขสิทธิ์เป็นผู้มีสิทธิแต่เพียงผู้เดียวที่จะกระทำการใด ๆ เกี่ยวกับงานสร้างสรรค์ที่ได้ทำขึ้นโดยหลักการกว้าง ๆ กฎหมายลิขสิทธิ์เป็นกฎหมายที่ให้ความคุ้มครองงานสร้างสรรค์ประเภท วรรณกรรมและศิลปกรรม  แบ่งออกเป็น  9  ประเภท ได้แก่  วรรณกรรม , นาฏกรรม , ศิลปกรรม , ดนตรีกรรม , โสตทัศนวัสดุ , ภาพยนตร์  , สิ่งบันทึกเสียง , งานแพร่เสียงแพร่ภาพ , งานอื่นในแผนกวรรณคดี  ศิลปะ และวิทยาศาสตร์

งานออกแบบอาคาร  หรือสิ่งปลูกสร้าง  งานออกแบบตกแต่ง  ภายในหรือภายนอก  การสร้างสรรค์หุ่นจำลองของอาคารหรือสิ่งปลูกสร้าง  หรือที่เรียกว่างานสถาปัตยกรรม เกี่ยวข้องโดยตรงกับกฎหมายลิขสิทธิ์  เพราะถือเป็นส่วนหนึ่งของงานศิลปกรรมแม้จะเป็นงานที่มีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับกฎหมายลิขสิทธิ์ แต่ยังมีผู้สนใจ  เข้าใจและให้ความสำคัญกับเรื่องลิขสิทธิ์แบบบ้านจำนวนไม่มากนัก ทางสมาคมรับสร้างบ้านจึงได้จัดสัมมนาเรื่อง ลิขสิทธิ์แบบบ้านขึ้น  เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา เพื่อส่งเสริมให้เกิดการตื่นตัวในเรื่องดังกล่าวกันมากขึ้น

ปัจจุบันยังมีความเข้าใจผิดว่าจะต้องไปจดทะเบียนก่อน ถึงจะเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ได้ แต่จริง ๆ แล้วหากผลงานเข้าข่ายอันมีลิขสิทธิ์ตามที่กฎหมายกำหนด  ก็จะได้รับความคุ้มครองโดยอัตโนมัติ โดยไม่ต้องมีการจดทะเบียน แต่งานที่จะได้รับความคุ้มครองจะต้องเป็นการแสดงออกซึ่งความคิด  มีระดับการสร้างสรรค์เพียงพอ  และต้องเป็นการสร้างสรรค์ด้วยตนเอง มิใช่ลอกเลียนงานของคนอื่น  และต้องเป็นงานสร้างสรรค์ที่กฎหมายกำหนด และไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน

อายุการคุ้มครองลิขสิทธิ์  สำหรับบุคคลธรรมดา กฎหมายให้ความคุ้มครองไปตลอดอายุของผู้สร้างสรรค์ และต่อเนื่องไปอีก  50  ปี ส่วนนิติบุคคล กฎหมายให้ความคุ้มครอง  50  ปี  หลังจากสร้างสรรค์  หรือโฆษณาครั้งแรก  และสำหรับศิลปะประยุกต์กฎหมายให้ความคุ้มครอง  25  ปี  หลังจากสร้างสรรค์ หรือโฆษณาครั้งแรก ที่เป็นปัญหาและสร้างความสับสนเป็นอย่างมากคือเรื่อง “ เจ้าของลิขสิทธิ์”  เพราะผู้สร้างสรรค์ และเจ้าของลิขสิทธิ์ อาจจะเป็นคนเดียวกันหรือคนละคนก็ได้ ขึ้นอยู่กับการสร้างสรรค์งาน หากเป็นการสร้างสรรค์งานโดยอิสระ เจ้าของลิขสิทธิ์คือ ตัวผู้สร้างสรรค์  ส่วนในกรณีการสร้างสรรค์งานภายใต้การจ้างงาน ผู้สร้างสรรค์แม้จะอยู่ในฐานะลูกจ้าง แต่ยังคงเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ของผู้สร้างสรรค์  เว้นแต่ได้ทำหนังสือตกลงกันไว้กับนายจ้างเป็นอย่างอื่นอย่างไรก็ดี  นายจ้างมีสิทธินำงานนั้นออกเผยแพร่ต่อสาธารณชนได้ก็ตามวัตถุประสงค์ของการจ้างแรงงานนั้น

ตัวอย่างเช่น  สถาปนิกอิสระ  หรือสถาปนิกที่เป็นลูกจ้างของบริษัทรับสร้างบ้านต่าง ๆ หากไม่ได้ทำสัญญาตกลงกับนายจ้างไว้เป็นอย่างอื่น  แบบบ้านก็ยังคงเป็นลิขสิทธิ์ของสถาปนิก  แต่บริษัทรับสร้างบ้านสามารถนำแบบบ้านไปใช้ได้ในฐานะผู้ว่าจ้าง ส่วนกรณีที่รับจ้างบุคคลอื่น  ผู้ว่าจ้างจะเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ เว้นแต่จะได้มีการตกลงกันระหว่าผู้ว่าจ้าง และผู้สร้างสรรค์ไว้เป็นอย่างอื่น

ยกตัวอย่างให้เข้าใจได้ง่าย ๆ ก็คือ ถ้ามีเจ้าของบ้านจ้างให้สถาปนิกเขียนแบบบ้านให้ เจ้าของบ้านจะเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์แบบบ้าน ยกเว้นแต่จะมีการตกลงระหว่างเจ้าของบ้านกับสถาปนิกไว้เป็นอย่างอื่น เช่นเดียวกันกับงานสร้างสรรค์โดยการจ้าง หรือทำตามคำสั่งกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานรัฐ หรือของท้องถิ่น ลิขสิทธิ์จะตกเป็นของหน่วยงานดังกล่าว เว้นแต่จะได้ตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่นเป็นลายลักษณ์อักษร กรณีของการนำงานที่มีลิขสิทธิ์อยู่แล้วมาดัดแปลง โดยได้รับการอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ ผู้ดัดแปลงจะได้รับการคุ้มครองลิขสิทธิ์ในงานดัดแปลงที่เกิดขึ้นใหม่ แต่ต้องไม่กระทบกระเทือนสิทธิของเจ้าของสิทธิที่มีอยู่ในงานเดิม

การละเมิดลิขสิทธิ์ แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ การละเมิดลิขสิทธิ์ทางตรง ได้แก่ การทำซ้ำ ดัดแปลง เผยแพร่ต่อสาธารณชน ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่  2 หมื่นบาท ถึง  2  แสนบาท ถ้าเป็นการกระทำผิดเพื่อการค้า ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่  6  เดือน ถึง  4 ปี หรือปรับตั้งแต่  1  แสนบาท  ถึง   8  แสนบาท

อีกประเภทคือการละเมิดลิขสิทธิ์ทางอ้อม ได้แก่ การที่รู้อยู่แล้วว่างานทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ แต่ก็ยังกระทำเพื่อหากำไรจากงานนั้นผู้กระทำต้องระวางโทษปรับ 1 หมื่นบาท ถึง  1 แสนบาท และถ้าเป็นการกระทำควาผิดเพื่อการค้า ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3  เดือน ถึง 2 ปี หรือปรับตั้งแต่ 5 หมื่นบาท ถึง  4  แสนบาท

“การที่กฎหมายให้ความคุ้มครองผลงานที่เข้าข่ายอันมีลิขสิทธิ์โดยอัตโนมัติ  ทำให้มีปัญหาในการค้นหาข้อมูลลิขสิทธิ์  กรมทรัพย์สินทางปัญญา  กระทรวงพาณิชย์ จึงได้เปิดให้มีการรับแจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์เพื่อจัดทำฐานข้อมูลลิขสิทธิ์ขึ้น  ผู้สนใจสามารถแจ้งข้อมูลการยืนยันการเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ได้ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย  โดยทางกรมทรัพย์สินทางปัญญาจะออกหนังสือรับรองการแจ้งข้อมูลให้ด้วย สนใจสอบถามรายละเอียดได้โดยตรงที่กรมทรัพย์สินทางปัญญา