สถาปนิก (Architect)
สถาปนิก คือบุคคลผู้เกี่ยวข้องในการออกแบบ และ วางแผน ในการ สร้างบ้าน หรือที่เรียกว่างานสถาปัตยกรรม โดยสถาปนิก จะเป็นผู้ที่เข้าใจในมาตรฐานการก่อสร้างของอาคาร เข้าใจถึงหน้าที่ใช้สอยของอาคารนั้น รวมถึงวัสดุที่จะนำมาเป็นส่วนประกอบของสิ่งก่อสร้างนั้น
สถาปนิกจะทำการ บันทึกรายละเอียดความต้องการของลูกค้า เพื่อออกแบบ สร้างบ้าน ให้ตรงตามความต้องการของลูกค้า ออกแบบเบื้องต้น (Schematic Design) ออกแบบ คำนวณแบบ เลือกวัสดุที่มีคุณภาพเหมาะสมและให้ประโยชน์สูงสุดกับลูกค้า ออกแบบรายละเอียด คำนวณรายการใช้จ่ายให้เหมาะสมกับเนื้องาน ทำแบบก่อสร้าง เตรียมแบบ และส่งแบบที่วาดโดยช่างเขียนแบบให้ลูกค้าพิจารณา เพื่อดัดแปลงแก้ไขและตอบข้อซักถามของลูกค้าร่วมกับวิศวกร
การตัดสินใจว่าจ้างสถาปนิกให้เป็นผู้ออกแบบ สร้างบ้าน นั้น นอกจากเตรียมไอเดียสำหรับบ้านในฝัน ไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิต และเงินในกระเป๋าไปคุยกับสถาปนิกแล้ว อีกสิ่งที่เจ้าของบ้านควรรู้คือค่าใช้จ่ายในการว่าจ้างออกแบบอาคารที่ต้องจ่ายนอกเหนือจากค่าก่อสร้างและตกแต่งภายใน เรียกว่า “ค่าวิชาชีพสถาปนิก” ซึ่งประกอบด้วยค่าบริการออกแบบ ค่าเขียนแบบ ค่าคำนวนแบบโครงสร้าง ค่าวิศวกร ตลอดถึงค่าเซ็นต์แบบก่อสร้างที่ต้องเซ็นต์ร่วมกันระหว่างสถาปนิกและวิศวกร
วิศวกร (Engineer)
วิศวกร คือผู้ที่ประกอบอาชีพทางด้านวิศวกรรม มีหน้าที่ ศึกษาวิเคราะห์ คำนวณ ออกแบบ ตรวจสอบแก้ไขปัญหาและควบคุมการผลิต อาทิ การก่อสร้างสิ่งก่อสร้าง การออกแบบและผลิตรถยนต์ การควบคุมเครื่องจักรกลโรงงานต่าง ๆ โดยวิศวกรยังแบ่งออกได้เป็นหลายสาขา เช่น วิศวกรโยธา วิศวกรเครื่องกล วิศวกรไฟฟ้า วิศวกรรมสิ่งแวดล้อม ฯลฯ
ถ้าสถาปนิกคือคนที่ทำให้บ้านน่าอยู่ วิศวกรก็คือคนที่ทำให้บ้านอยู่ได้อย่างปลอดภัย นั่นเอง
โดยทำหน้าที่ออกแบบโครงสร้างให้แข็งแรงและเป็นไปตามโจทย์ดีไซน์ของสถาปนิกให้ได้มากที่สุด ตลอดจนคำนวนแบบงานระบบต่างๆ ให้เหมาะสมกับการใช้งาน เช่น โครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็กของบ้าน 2 ชั้น ต้องใช้เหล็กจำนวนเท่าไร หรือหากต้องการสร้างคานบ้านยาวมากกว่า 6 เมตร ควรใช้วัสดุใดเข้ามาเสริมแรงเพื่อให้คานมั่นคงไม่ถล่มลงมาระหว่างใช้งาน เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีหน้าที่ควบคุมงานก่อสร้าง ช่วยแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นหน้างานให้สำเร็จลุล่วงตามแบบแปลนด้วย
งานโครงสร้างและงานระบบมีความสำคัญต่อการสร้างบ้านทุกหลัง หากออกแบบและคำนวนวัสดุอย่างเหมาะสมจะช่วยควบคุมค่าใช้จ่ายและป้องกันปัญหาจุกจิกของตัวบ้านในอนาคตได้
มัณฑนากร (Interior Designer)
มัณฑนากร (Interior designer) คือ นักออกแบบตกแต่งภายใน มีหน้าที่ออกแบบ วางแผนและควบคุมงานสถาปัตยกรรมภายในอาคาร ซึ่งมัณฑนากรเป็นอาชีพที่มีความเชี่ยวชาญด้านงานตกแต่งภายในโดยเฉพาะ ทั้งในด้านศิลปะ รายละเอียดความสวยงามและด้านมาตรฐานการออกแบบในเชิงโครงสร้าง
มัณฑนากรหรือที่หลายคนเรียกติดปากว่า “อินทีเรียดีไซเนอร์” คือผู้เนรมิตห้องสี่เหลี่ยมธรรมดาให้มีเรื่องราวและรายละเอียดที่สวยงามลงตัว สะท้อนบุคลิกผู้เป็นเจ้าของ ควบคู่ไปกับประโยชน์ใช้สอยที่เหมาะเจาะกับรูปแบบชีวิต ครอบคลุมตั้งแต่งานพื้น ผนัง เพดาน เฟอร์นิเจอร์ และของประดับ จนถึงดีเทลยิบย่อยอย่างเฉดสี ลวดลาย เนื้อสัมผัสวัสดุ เป็นต้น
ขั้นตอนการทำงานตกแต่งภายในคล้ายกับงานออกแบบของสถาปนิก กล่าวคือ
1.) รับทราบความต้องการของเจ้าของบ้านและพิจารณาบริบทของสิ่งแวดล้อม
2.) วิเคราะห์ข้อมูลสร้างเป็นคอนเซ็ปต์การออกแบบก่อนลงมือสเก็ตช์แบบร่างเพื่อให้เราเห็นภาพ
3.) พัฒนาแบบร่างจนเป็นที่พึงพอใจพร้อมส่งมอบสเปควัสดุและรายละเอียดการติดตั้งให้ผู้รับเหมา โดยภายหลังส่งงานต่อให้ช่างตกแต่งภายในแล้ว มัณฑนากรส่วนใหญ่จะยังคงช่วยดูแลความเรียบร้อยหรือให้คำปรึกษาระหว่างการติดตั้งด้วย
ช่วงเวลาคุยกับอินทีเรียดีไซเนอร์ที่ดีที่สุดคือคุยพร้อมกับสถาปนิกเพราะเป็นงานที่เกี่ยวเนื่องและสามารถส่งผลกระทบต่อโครงสร้างและหน้าตาของบ้านได้ ยกตัวอย่างว่ามัณฑนากรต้องการวางหัวเตียงทางทิศตะวันออก แต่ปรากฏว่าผนังทิศนั้นสถาปนิกออกแบบเป็นประตู เมื่อเป็นเช่นนี้ต้องมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งกลับไปแก้งาน หรือคุยงานร่วมกันเพื่อหาโซลูชันใหม่ ซึ่งหากทำตอนที่ยังเป็นแบบร่างบนกระดาษก็เพียงลบทิ้งเขียนใหม่ แต่หากเปลี่ยนกันตอนงานก่อสร้างเริ่มหรือเสร็จแล้ว เราจำเป็นต้องใช้ทรัพยากรเพิ่มขึ้น และนั่นหมายถึงจำนวนเงินที่เพิ่มขึ้นด้วย
ผู้รับเหมา (Contractor)
มาถึงอาชีพกลุ่มสุดท้ายที่คนอยากมีบ้านต้องรู้จักคือ “ผู้รับเหมา” ผู้เป็นแรงงานสำคัญในการเปลี่ยนภาพในกระดาษเป็นอาคารบ้านเรือนที่เราเข้าไปใช้ชีวตได้จริงๆ โดยอาศัยแบบก่อสร้างของสถาปนิกเป็นคู่มือลำดับการทำงานตั้งแต่ปรับพื้นที่ ลงฐานราก งานโครงสร้าง งานสถาปัตยกรรม (เช่น งานหลังคา พื้น ผนัง ประตู) งานระบบ (เช่น ไฟฟ้า ประปา ระบบบำบัดน้ำทิ้ง) และเก็บรายละเอียดอื่นๆ จนพร้อมส่งมอบบ้านให้กับเรา
เมื่อต้องการว่าจ้างผู้รับเหมา สิ่งที่เราต้องมีคือ BoQ (Bill of Quantities) หรือเอกสารแสดงปริมาณงาน และราคาวัสดุในการก่อสร้างซึ่งถอดออกมาจากแบบก่อสร้างทั้งหมด นอกจากใช้เป็นราคากลางอ้างอิงเพื่อเปรียบเทียบคัดเลือกผู้รับเหมาแต่ละเจ้าแล้ว BoQ ยังเป็นเสมือนบัญชีตรวจสอบราคาเมื่อเราเพิ่มหรือลดสเปคงานก่อสร้าง เช่น เปลี่ยนสเปควงกบประตูไม้จริง เป็น UPVC ราคาค่าก่อสร้างจะลดลง หรือเปลี่ยนสีทาภายนอกจากรุ่นทั่วไปเป็นรุ่น Self-Cleaning ราคาวัสดุต่อหน่วยย่อมเพิ่มขึ้น เป็นต้น
ในการเสนอราคาของผู้รับเหมายังแบ่งเป็น 2 ประเภทคือ จ้างเหมาแบบทั้งค่าแรงและค่าของ และการจ้างเฉพาะส่วนของค่าแรง (เจ้าของบ้านเป็นผู้จัดหาวัสดุก่อสร้างเอง) ซึ่งส่วนใหญ่ตัดจบด้วยการเลือกแบบเหมาทั้งค่าแรงค่าของ เพราะช่วยให้เจ้าของบ้านเซฟเวลาและพลังงานได้ดีกว่า