เรียนรู้ขั้นตอนการออกแบบ และตกแต่งภายใน-ภายนอกอาคาร เพื่อความสวยงาม
มัณฑนศิลป์ (Decorative art) หมายถึง การนำศิลปะมาออกแบบและตกแต่งงานสถาปัตยกรรม หรือนำมาใช้สำหรับการตกแต่งภายใน-ภายนอกอาคาร เพื่อให้มีความสวยงามและสามารถใช้ประโยชน์ได้จากงานออกแบบได้
การออกแบบตกแต่งภายใน มีลักษณะงานที่นอกจากจะต้องคำนึงถึงการอำนวยความสะดวกสบายแก่ผู้ใช้งาน ประโยชน์จากการใช้สอย ระบบการทำงานที่มีประสิทธิภาพและความปลอดภัยแล้ว ยังต้องคำนึงถึงราคาที่ประหยัดสำหรับงบประมาณและรูปแบบความสวยงาม โดยที่การออกแบบตกแต่งภายในนี้อาจเป็นงานออกแบบจากการนำสิ่งที่มีอยู่แล้วมาดัดแปลงให้สวยงามยิ่งขึ้น หรือเป็นงานที่ถูกออกแบบสร้างสรรค์ขึ้นมาใหม่โดยนักออกแบบตกแต่งภายใน
การตกแต่งภายใน (Interior Design)
การตกแต่งภายใน หมายถึง การออกแบบเพื่อจัดและตกแต่งสภาพแวดล้อมภายในอาคารและสถานที่ ให้เกิดความสะดวกสบายในด้านประโยชน์ใช้สอยและในด้านความสวยงาม โดยเริ่มต้นจากการวางผังเครื่องเรือน แล้วทำการพิจารณาเลือกรูปแบบ(Style) ของเครื่องเรือน จากนั้นจึงจะทำการเลือกวัสดุตกแต่ง กำหนดสีและแสง และทำการเลือกสิ่งตกแต่งเพื่อความสวยงามเป็นขั้นสุดท้าย ตัวอย่างเช่น ต้นไม้ หรือรูปภาพ เป็นต้น
ขั้นตอนมาตรฐานของการออกแบบและตกแต่งภายใน
1.ขั้นตอนการให้คำปรึกษาและขอข้อมูล
เป็นขั้นของการให้คำปรึกษาและขอข้อมูลเกี่ยวกับการออกแบบโครงการระหว่างลูกค้าและนักออกแบบ โดยอาจมีการพบปะพูดคุยกันมากกว่า 1 ครั้งเพื่อทำการปรับความเข้าใจต่างๆ และสรุปความต้องการขั้นต้นให้ตรงกันทั้งสองฝ่าย ซึ่งในขั้นตอนนี้เป็นขั้นตอนที่ลูกค้าจะใช้สำหรับพิจารณาความสามารถ ความน่าเชื่อถือ ของนักของแบบว่ามีประสิทธิภาพหรือไม่และจะสามารถทำงานร่วมกันได้ออกมาตรงกับความต้องการหรือไม่ และสำหรับนักออกแบบก็จะใช้ขั้นตอนนี้ในการพิจารณารับงานของลูกค้าด้วยเช่นเดียวกัน ส่วนใหญ่แล้วในขั้นของการให้คำปรึกษาและขอข้อมูลนักออกแบบจะไม่คิดค่าบริการในการให้คำปรึกษา แต่หากมีค่าบริการก็จะคิดในราคาที่ไม่สูงมาก แต่เพื่อทำการลดปัญหาที่จะเกิดขึ้นลูกค้าจึงควรสอบถามและตกลงเรื่องค่าใช้จ่ายในการขอคำปรึกษากับนักออกแบบเสียก่อนที่จะมีการพบปะพูดคุยกัน
2.ขั้นตอนการวางผังและนำเสนอแนวคิดเพื่อการออกแบบขั้นต้น (Lay-out and Conceptual Design)
เป็นขั้นตอนการวางแนวความคิดของนักออกแบบให้ลูกค้าได้นำไปพิจารณาอย่างคร่าวๆ โดยที่นักออกแบบจะต้องออกแบบและวางผังพื้นที่ใช้สอยอย่างง่าย (Lay-out Plan) รวมทั้งจะต้องทำการพิจารณารูปแบบที่จะใช้สำหรับงานออกแบบ (Style) และการแบ่งพื้นที่ใช้สอย (Zoning) ให้มีประสิทธิภาพ เหมาะสม ตรงกับความต้องการของลูกค้า ซึ่งส่วนมากเพื่อเป็นตัวช่วยในการตัดสินใจ นักออกแบบจะนำนิตยสาร หรือหนังสือที่เกี่ยวข้องกับการตกแต่งภายในมานำเสนอแนวคิดในรูปแบบต่างๆ แก่ลูกค้า ในขั้นตอนดังกล่าวลูกค้าจึงจะได้ทราบรูปแบบโดยรวมและแนวทางของงานที่จะถูกพัฒนาต่อไป
3.ขั้นตอนในการพัฒนาแบบร่างขั้นต้น
เป็นขั้นตอนที่นักออกแบบจะต้องทำการนำเสนอแบบร่างอย่างง่ายแก่ลูกค้า ตามรูปแบบที่ได้ผ่านการอนุมัติมา ทั้งในด้านแนวความคิดของงานออกแบบและผังพื้นที่ในการใช้สอย เพื่อทำให้ลูกค้าเกิดจินตภาพและเข้าใจภาพรวมของงานออกแบบมากยิ่งขึ้น โดยที่นักออกแบบสามารถเลือกนำเสนอได้ในรูปแบบที่หลากหลาย ได้แก่ รูปแบบ Model รูปแบบภาพ Sketch หรือรูปแบบ Perspective เป็นต้น ซึ่งในขั้นตอนการพัฒนาแบบร่างขั้นต้นนี้ ลูกค้าจะสามารถขอปรับหรือแก้ไขรูปแบบของงานได้ แต่มักมีข้อกำหนดสำหรับบริษัทหลายแห่งคือ จำนวนครั้งในการขอปรับแก้นั้นสามารถทำได้ไม่เกิน 2 ครั้งรวมทั้งไม่ควรปรับแก้จนผิดไปจากผังและรูปแบบที่ได้ถูกวางเอาไว้มากจนเกินไป เนื่องจากจะทำให้งานยืดเยื้อและส่งผลให้เสร็จไม่ทันในระยะเวลาที่กำหนด
4.ขั้นตอนในการพัฒนาแบบร่างขั้นสุดท้าย
ขั้นตอนนี้เป็นขั้นตอนที่นักออกแบบจะนำแบบร่างขั้นต้นมาพัฒนาต่อเพื่อทำการนำเสนอลูกค้า ให้มีความใกล้เคียงกับผลงานออกแบบจริงมากที่สุด โดยที่ส่วนมากมักใช้รูปแบบการนำเสนอแบบภาพ Perspective และ แบบModel ที่มีความเสมือนจริง ทำให้ลูกค้าเกิดจินตภาพที่ชัดเจนในงานออกแบบทั้งหมด และเนื่องจากแบบร่างขั้นสุดท้ายนี้เป็นแบบร่างที่ได้ผ่านการอนุมัติจากแบบร่างขั้นต้นมาแล้ว ลูกค้าจึงสามารถขอปรับแก้ไขแบบร่างได้เพียงเล็กน้อยในส่วนของรายละเอียดเท่านั้น แต่หากลูกค้าต้องการปรับแก้แบบร่างในส่วนหลักของงาน บริษัทหรือนักออกแบบจะทำการคิดค่าบริการเพิ่มในส่วนของงานที่จะต้องทำการแก้ไขและออกแบบใหม่ทั้งหมด
5.ขั้นตอนของการกำหนดวัสดุสำหรับตกแต่งภายในทั้งหมด
เป็นขั้นตอนการกำหนดวัสดุที่จะนำมาใช้ในการตกแต่งทั้งหมดให้ลูกค้าได้พิจารณา โดยนักออกแบบจะอ้างอิงจากงานแบบร่างขั้นสุดท้ายที่ได้ผ่านการการอนุมัติมาแล้ว เพื่อจัดทำรูปแบบนำเสนอให้ลูกค้าได้ทำการพิจารณาเปรียบเทียบวัสดุ การฉลุลายเหล็ก โลหะ เพื่อการออกแบบ โดยส่วนใหญ่นักออกแบบมักนำเสนองานในรูปแบบของ Material Board หรือแผ่นกำหนดวัสดุ ก่อนที่จะทำการรวมและประกอบแบบร่างเข้าด้วยกัน จากนั้นนักออกแบบจึงจะสามารถดำเนินการในขั้นตอนสุดท้ายคือขั้นตอนการเขียนแบบรายละเอียดต่อไป
6.ขั้นตอนของการเขียนแบบรายละเอียด
เป็นขั้นตอนที่นักออกแบบจะเขียนแบบรายละเอียด และทำการพิมพ์แบบฉบับร่างออกมาเพื่อนำเสนอให้ลูกค้าได้พิจารณารายละเอียดทั้งหมดของงาน ซึ่งแบบรายละเอียดนี้จะต้องถูกเขียนให้ตรงตาม Material Board และแบบร่างขั้นสุดท้ายที่ผ่านการอนุมัติมาแล้ว โดยส่วนมากนักออกแบบมักใช้ระยะเวลาทำงานในขั้นตอนดังกล่าวประมาณ 15-30 วัน หลังจากนั้นจึงจะส่งแบบรายละเอียดฉบับร่างไปให้แก่ลูกค้า โดยที่ลูกค้าสามารถทำการแจ้งขอปรับแก้รายละเอียดในแบบกับนักออกแบบได้ และเมื่อแก้ไขแบบรายละเอียดฉบับร่างได้ตรงตามที่ต้องการแล้ว นักออกแบบจึงจะทำการพิมพ์แบบรายละเอียดฉบับจริงต่อไป